20 แม่ไม้สำคัญ ในการเลือกบ้านประหยัดพลังงาน
1. อย่าใส่แหล่งความร้อน (ลานคอนกรีต) ในบ้าน
ภายในบริเวณบ้านไม่ควรมีลานคอนกรีตในทิศทางรับแสงแดดจัด เช่น ทิศใต้ และทิศตะวันตก เนื่องจากในเวลากลางวันคอนกรีตจะกลายเป็นมวลสารสะสมความร้อน (Thermal mass)
มีการสะสมความร้อนไว้ในเวลากลางวันในปริมาณมาก ด้วยคุณสมบัติการนำความร้อนของวัสดุ และจะถ่ายเทความร้อนกลับสู่บ้านของท่านในเวลากลางคืน จึงทำให้สภาพแวดล้อมของบ้านและตัวบ้านมีอุณหภูมิสูงตามไปด้วย การจัดวางตำแหน่งพื้นคอนกรีตเพื่อเป็นที่จอดรถยนต์ หรือชาน หรือระเบียงที่ดี ควรเลือกวางในทิศที่ไม่ถูกแสงแดดมาก เช่น ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และควรมีร่มเงาจากต้นไม้ ช่วยลดปริมาณแสงแดด
2. รั้วบ้าน...ต้องโล่ง...โปร่ง...สบาย
รั้วบ้าน ไม่ควรออกแบบให้มีลักษณะทึบตัน เนื่องจากรั้วทึบจะกีดขวางการเคลื่อนที่ของลมเข้าสู่ตัวบ้านทำให้ภายในตัวบ้านอับลม นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ทำรั้วบางชนิด เช่น อิฐมอญ คอนกรีต เสริมเหล็ก คอนกรีตบล็อก ยังมีคุณสมบัติสะสมความร้อนไว้ในตัวเองในเวลากลางวัน และคายกลับสู่สภาพแวดล้อม และตัวบ้าน ในเวลากลางคืน
3. อย่าลืม !! ต้นไม้ให้ร่มเงา
การปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน นอกจากจะสร้างความร่มรื่นและความสดชื่นสบายตาสบายใจแก่ผู้อาศัยในบ้านแล้วใบไม้หลากรูปทรงและสีสันที่แผ่กิ่งก้านสาขายังสามารถลดแสงแดดที่ตกกระทบตัวบ้าน และให้ร่มเงาที่ร่มเย็นแก่ผู้อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดต้นไม้ใบหญ้าทั้งหลายยังช่วยลดความร้อนจากสภาพแวดล้อมด้วยการคายไอน้ำผ่านทางปากใบได้อีกด้วย ซึ่งควรพิจารณาตำแหน่งการปลูกต้นไม้ใหญ่น้อยในบริเวณบ้านให้สัมพันธ์กับร่มเงาที่เกิดขึ้นกับตัวบ้านไว้ล่วงหน้า
ข้อควรระวัง ! การปลูกไม้ใหญ่ใกล้บ้านเกินไป ต้องระวังราก ของต้นไม้ใหญ่จะสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างของบ้าน จึงควรดูความเหมาะสมของชนิดต้นไม้
4. ก่อนสร้าง อย่าลืม !!! พื้นชั้นล่างปูแผ่นพลาสติก
บ้านพักอาศัยทั่วไปในปัจจุบันทั้งชั้นล่างและชั้นบนมักติดตั้ง เครื่องปรับอากาศให้ความเย็นและลดความชื้นภายในพื้นที่ กันเป็นจำนวนมาก การเตรียมการก่อสร้างบ้านในส่วนโครงสร้างพื้นชั้นล่างควรปูแผ่นพลาสติก เพื่อป้องกัน ความชื้นที่ระเหยขึ้นจากผิวดิน ซึ่งเป็นผลให้มีความเสียหายที่วัสดุปูพื้นชั้นล่าง และประเด็นที่สำคัญด้านพลังงานคือ เกิดการสะสมความชื้นภายในพื้นที่ชั้นล่างของตัวบ้าน เป็นที่มาของภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่ควรระวังระหว่างการก่อสร้างส่วนดังกล่าว คือ การฉีกขาดเสียหายของพลาสติกเนื่องจากเหล็กที่ใช้ในระหว่างการก่อสร้าง ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมก่อสร้างไว้ล่วงหน้าเช่นกัน
5. หันบ้านให้ถูกทิศ (ลม-แดด-ฝน) จิตแจ่มใส
การออกแบบบ้านเรือนในประเทศไทย ไม่ควรหลงลืมปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อการถ่ายเทความร้อนสู่ตัวบ้าน นั่นคือส่วนใหญ่ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ ทางทิศใต้ (แดดอ้อมใต้) เป็นเวลา 8-9 เดือนและด้วยมุมกระทำของดวงอาทิตย์ต่อพื้นโลกมีค่าน้อย (มุมต่ำ) จึงทำให้การป้องกันแสงแดดทำได้ยาก เป็นผลให้ทิศทางดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากแสงแดดรุนแรงเกือบตลอดปี การวางตำแหน่งบ้าน และการออกแบบ รูปทรงบ้านที่ดีต้องหลีกเลี่ยงการรับแสงแดดในทิศดังกล่าว นอกจากนี้ลมประจำ (ลมมรสุม) ที่พัดผ่านประเทศไทยมีทิศทางชัดเจนจากทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูร้อน และฤดูฝน และพัดจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาว การวางผังบ้านและทิศทางตำแหน่งช่องหน้าต่างเพื่อระบายความร้อนในบ้าน จึงต้องคำนึงถึงทิศทางกระแสลมเหล่านี้เป็นสำคัญอีกด้วย
6. มีครัวไทยต้องไม่เชื่อมติดตัวบ้าน
การทำครัวแบบไทย นอกจากจะได้อาหารที่มีรสชาดเผ็ดร้อนถูกปากคนไทยแล้ว ยังก่อให้เกิดความร้อนสะสมขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวในปริมาณมากอีกด้วย อันเนื่องมาจากอุปกรณ์และกิจกรรมการทำครัวต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากครัวฝรั่งโดยสิ้นเชิง ความร้อนที่เกิดขึ้นในห้องครัวที่ติดกับตัวบ้านจะสามารถถ่ายเทเข้าสู่พื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างรวดเร็วในลักษณะสะพานความร้อน (Thermal Bridge) และหากห้องติดกันเป็นพื้นที่ปรับ อากาศจะยิ่งสิ้นเปลืองพลังงานในการทำความเย็นของห้องดังกล่าวมากขึ้นโดยใช่เหตุ แต่อย่างไรก็ตามในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรติดตั้งฉนวนกันความร้อนเพิ่มเติมระหว่างห้องครัวกับตัวบ้าน เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น
7. ประตูหน้าต่างต้องมีทางลมเข้าออก
การระบายความร้อนภายในบ้าน โดยใช้ลมธรรมชาติพัดผ่านหน้าต่าง ภายในห้องต้องมีช่องทาง ให้ลมเข้าและลมออกได้อย่างน้อย 2 ด้านมิฉะนั้นลมจะไม่สามารถไหลผ่านได้และสิ่งที่ดีที่สุดคือการออกแบบให้ช่องหน้าต่างอยู่ตรงข้ามกันและมีขนาดใหญ่เท่าเทียมกันจะทำให้การระบายความร้อนเกิดขึ้นมากที่สุด นอกจากนี้การวางตำแหน่งช่องหน้าต่างต้องตอบรับทิศทางการเคลื่อนที่ของลมประจำด้วยแต่อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าลมที่นำเข้าสู่อาคารต้องทำให้เป็นลมเย็นเสียก่อนจึงจะทำให้การลดความร้อนมีประสิทธิผล
การออกแบบให้ลมไหลผ่านตัวบ้านได้ดี มี ข้อควรระวัง ได้แก่
1. ต้องติดตั้งมุ้งลวดเพื่อกรองฝุ่นละอองเกสรที่จะเข้าบ้าน
2. การติดช่องหน้าต่างในตำแหน่งเยื้องกันจะช่วยบังคับให้ลมไหลผ่านห้องต่าง ๆ ตามตำแหน่งที่ต้องการได้
8. ผังเฟอร์นิเจอร์ต้องเตรียมไว้ก่อน ไม่ร้อนและประหยัดพลังงาน
บ้านที่ดีควรมีการจัดวางผังเฟอร์นิเจอร์ในแต่ละห้องไว้ล่วงหน้า เพื่อความสะดวกในการจัดเตรียม ตำแหน่งติดตั้ง ปลั๊ก สวิทช์ ไว้ให้ เพียงพอสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ในบ้าน นอกจากนี้การเตรียมการดังกล่าวไว้ล่วงหน้าจะตรวจสอบได้ว่าตำแหน่งใดในบ้านมีเฟอร์นิเจอร์วางกีดขวางการเคลื่อนที่ของกระแสลมหรือไม่ หรือตอบรับแสงสว่างจากธรรมชาติ และกระแสลมธรรมชาติมากน้อยเพียงใด และควรแก้ไขปรับปรุงอย่างไรให้ดีขึ้น ควรแยกอุปกรณ์ที่จะสร้างความร้อนออกนอกห้องปรับอากาศ เช่น ตู้เย็น เครื่องต้มน้ำ
9. อย่า !!! มีบ่อน้ำหรือนำพุในห้องปรับอากาศ
คุณสมบัติทางอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ คือ การลดอุณหภูมิและความชื้น ทำให้พื้นที่ห้องต่าง ๆ อยู่ในสภาวะสบาย ซึ่งการตกแต่งประดับพื้นที่ภายในห้องด้วยน้ำพุ น้ำตก อ่างเลี้ยงปลา หรือแจกันดอกไม้ ย่อมทำให้ภายในห้องมีแหล่งความชื้นเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น และทำให้เครื่องปรับอากาศต้องใช้พลังงานในการลดความชื้นมากกว่าปกติ
10. ช่องอากาศที่หลังคา พาคลายร้อน...
หลังคาที่ดีนอกจากจะสามารถคุ้มแดดคุ้มฝนแล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติ ในการป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้อีกด้วย ภายในช่องว่างใต้หลังคา เป็นพื้นที่เก็บกักความร้อนที่แผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ก่อนถ่ายเทเข้าสู่พื้นที่ส่วนต่างๆภายในบ้าน ดังนั้นการออกแบบให้มีการระบายอากาศ (ร้อน) ภายในหลังคาออกไปสู่ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นช่องลมบริเวณจั่วหลังคา หรือระแนงชายคา จึงเป็นเรื่องที่ดีต่อการลดความร้อนในบ้าน แต่พึงระวังให้การระบายอากาศร้อนดังกล่าวอยู่เหนือฉนวนภายในฝ้าเพดาน มิฉะนั้นความร้อน จะสามารถถ่ายเทลงสู่ตัวบ้านได้อยู่ดี
ข้อควรระวัง คือ
1. ต้องมีการติดตั้งตาข่ายป้องกันนก แมลง เข้าไปทำรังใต้หลังคาด้วย
2. ต้องมีการป้องกันฝนเข้าช่องเปิดระบายอากาศด้วย
11. ต้องใส่ "ฉนวน" ที่หลังคาเสมอ
ฉนวนกันความร้อนเป็นอุปกรณ์ที่สามารถกั้นหรือป้องกัน ความร้อนที่เกิดขึ้นจากแสงแดดไม่ให้เข้าสู่บ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นจากส่วนผนังหรือหลังคาบ้าน แต่ช่องทางที่ความร้อนจากแสงแดดถ่ายเทเข้าสู่ตัวบ้านได้มากที่สุดในเวลากลางวันคือพื้นที่หลังคา ดังนั้นการลดความร้อนจาก จากพื้นที่ดังกล่าว ด้วยการใช้ฉนวนซึ่งมีรูปแบบและการติดตั้งที่เหมาะสมกับพื้นที่ สอดคล้องกับการใช้งานจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการลดการใช้พลังงานภายในบ้าน
12. กันแสงแดดดีต้องมีชายคา
กันสาดหรือชายคาบ้านเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญกับอาคาร บ้านเรือนในเขตร้อนเช่นประเทศไทย เนื่องจากมีคุณสมบัติการ ป้องกันแสงแดด (ความร้อน) ไม่ให้ตกกระทบผนังและส่องผ่านเข้าสู่ช่องแสง และหน้าต่างได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ตำแหน่ง และทิศทางการติดตั้งกันสาดที่มีความจำเป็นมากที่สุด คือ ด้านที่มีแสงแดดรุนแรง ได้แก่ ทิศใต้และทิศตะวันตก นอกจากนี้ ข้อดีอีกประการของการติดตั้งชายคาและกันสาด คือ เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการป้องกันฝนเข้าสู่ ตัวบ้านอีกด้วย
13. ห้องไหนๆ ติดเครื่องปรับอากาศ อย่าลืมติดฉนวน
การลดภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศที่สำคัญ คือ ลดความร้อนที่ถ่ายเทเข้าสู่ตัวบ้านและพื้นที่ใช้สอย ดังนั้น การติดตั้งฉนวนกันความร้อนในพื้นที่ห้องที่ปรับอากาศเพื่อลดความร้อนนอกจากจะทำให้ห้องเย็นสบายจากแสงแดดและ ป้องกันความร้อนเข้าตัวบ้านแล้วยังทำให้สภาพภายในห้องปรับลดอุณหภูมิลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีความร้อนสะสมอยู่ภายในห้องน้อยจึงช่วยลดค่าไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศได้
14. บานเกล็ด บานเปิด บานเลื่อน ต้องใช้ให้เหมาะสม
หน้าต่างแต่ละชนิดมีคุณสมบัติในการใช้สอยที่แตกต่างกันตามความต้องการ จึงควรเลือกชนิดของหน้าต่างให้ เหมาะสมกับพื้นที่ภายในห้อง...หน้าต่างบานเปิดมีประสิทธิภาพในการรับกระแสลมสูงที่สุด...แต่อย่างไรก็ตาม ต้องจัดวางให้สอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของกระแสลมด้วย นอกจากนี้พึงระวังการใช้หน้าต่างบานเกล็ดในห้อง ปรับอากาศ เพราะหน้าต่างชนิดนี้มีรอยต่อมาก ทำให้อากาศภายนอกรั่วซึมเข้ามาได้ง่าย จึงส่งผลให้ความร้อนและ ความชื้นถ่ายเทสู่ภายในห้องได้สะดวกเช่นกัน ซึ่งเป็นผลให้เครื่องปรับอากาศทำงานมากขึ้น
15. ทาสีผนังให้ใช้สีอ่อน ไม่ร้อนดี แต่ถ้าเปลี่ยนสี (เข้ม) ต้องมีฉนวน
สีผนังมีผลต่อการสะท้อนแสงแดดและความร้อนเข้าสู่อาคารมากน้อยต่างกัน สีอ่อนจะมีคุณสมบัติสะท้อนแสงแดด และการถ่ายเทความร้อนเข้าภายในบ้านดีกว่า สีเข้มตามลำดับความเข้มของสี ผนังภายนอกที่สัมผัสแสงแดดจึงควรเลือกใช้สีโทนอ่อน เช่น ขาว ครีม เป็นต้น เพื่อช่วยสะท้อนความร้อน ในทางกลับกัน หากต้องการทาสีผนังภายนอกบ้านเป็นสีเข้มก็สามารถ กระทำได้ แต่ไม่ควรอยู่ในตำแหน่งที่โดนแสงแดดหรือต้องมีการติดตั้งฉนวนกันความร้อนในบริเวณนั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความร้อนเป็นการชดเชย นอกจากสีภายนอกอาคารแล้ว การทาสีภายในอาคารด้วยสีอ่อน จะช่วยสะท้อนแสงภายในห้อง เพิ่มความสว่างภายในบ้าน ทำให้ไม่จำเป็นต้องเปิดใช้โคมไฟมากเกินไป
16. ห้องติดเครื่องปรับอากาศต้องไม่ไร้บังใบประตูหน้าต่าง
ความชื้นในอากาศที่รั่วซึมเข้าภายในอาคารบ้านเรือน (Air Infiltration)เป็นสาเหตุของภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ และ ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การป้องกันปัญหาด้วยการออกแบบที่กระทำได้ไม่ลำบาก คือ การเลือกใช้ประตูและหน้าต่างห้องในบ้านที่มีการบังใบวงกบ เพื่อลดการรั่วซึมของ อากาศร้อนและความชื้นจากภายนอกที่ไหลผ่านรอยต่อวงกบ ประตู หน้าต่าง เข้าสู่ภายใน
กรณีบานหน้าต่างสามารถใช้ซิลิโคนสีใสช่วยปิดช่องอากาศรั่วได้ ส่วนกรณีบานประตูก็สามารถซื้อแผ่นพลาสติกปิดช่องอากาศรั่วมาติดเพิ่มเติม ได้ในภายหลัง โดยควรเลือกชนิดพลาสติกจะทำความสะอาดและกันลมรั่วได้ดีกว่าแบบผ้า
17. ห้องน้ำดีต้องมีแสงแดด
ผนังห้องน้ำ เป็นพื้นที่ ไม่กี่จุดในบ้านที่ควรจัดวางให้สัมผัสแสงแดดมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ด้วยเหตุผลด้านสุขอนามัยและเพื่อลดความชื้นสะสมภายในตัวบ้าน นอกจากนี้การเลือกวางตำแหน่งห้องน้ำทางด้าน ทิศตะวันตกหรือทิศใต้ ยังมีข้อดีในการเป็นพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ระหว่างแสงแดดกับพื้นที่ในบ้านได้อีกด้วย
นอกจากจะต้องมีช่องแสงแดดที่มากแล้ว ควรมีช่องลมในปริมาณที่มากพอ เพื่อระบายความชื้นภายในห้องน้ำด้วยซึ่งมี ข้อควรระวัง คือ ติดตาข่ายป้องกันแมลงที่ช่องลมด้วย
18. รับแสงเหนือเพื่อประหยัดแสงไฟ
ช่องแสงหรือหน้าต่างภายในบ้านควรออกแบบจัดวางให้เอื้อต่อการนำแสงธรรมชาติส่องเข้ามาภายในห้องได้ ทุกๆห้อง ไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องอาหาร หรือแม้แต่ห้องน้ำ ห้องเก็บของและบันได เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าในบ้าน เนื่องจากแสงธรรมชาติเป็นแสงที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด และไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่มากับแสงธรรมชาติ คือความร้อน ดังนั้นทิศทางช่องแสงหรือหน้าต่างในบ้าน ที่ดีที่สุด คือทิศเหนือ เนื่องจากได้รับอิทธิพลความร้อนของแสงแดดน้อยที่สุดในรอบปี (ดวงอาทิตย์อ้อมเหนือเพียง 3 เดือน) และมีลักษณะความสว่างคงที่ (Uniform)ในแต่ละวัน
19. คอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศ...ต้องวางให้ถูกที่
การวางตำแหน่งคอมเพรสเซอร์ นอกจากจะพิจารณาเรื่องความสวยงามแล้ว ยังมีผลอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องปรับอากาศ และการทำความเย็นภายในห้อง จึงควรเลือกวางตำแหน่ง เครื่องให้อยู่ในจุดที่พัดลมของเครื่องสามารถระบายความร้อน ได้สะดวก ไม่มีสิ่งกีดขวางทิศทางลม และนอกจากนี้ตัวเครื่องต้อง ไม่ได้รับความร้อนจากแสงแดดมากนักในช่วงเวลากลางวัน เช่น ทิศเหนือหรือตะวันออก เพราะการสะสมความร้อนที่ตัวเครื่องใน ปริมาณมาก จะทำให้เครื่องปรับอากาศกินไฟมากขึ้น
20. ไม่ใช้หลอดไส้..หลอดร้อนหลากสี.. ชีวีเป็นสุข
หลอดไฟฟ้าชนิดหลอดไส้ (Incandescent Lamp)หลอด ฮาโลเจน(Halogen Lamp)ที่มีสีสันสวยงามเหล่านี้เป็นดวงโคม ที่นอกจากจะให้ความสว่างแล้วยังปล่อยความร้อนสู่พื้นที่ภายในห้องใน ปริมาณมาก เมื่อเทียบกับหลอดผอมหรือหลอดฟลูออเรสเซนท์ และหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนท์ หรือหลอดตะเกียบ ซึ่งมีประสิทธิภาพทางพลังงาน (Efficacy)สูงกว่า คือให้ความสว่างมาก แต่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่า ในห้องที่มีการปรับอากาศ การใช้งาน หลอดตระกูลหลอดไส้เหล่านี้ ทำให้ห้องมีความร้อนเพิ่มมากขึ้น และเครื่องปรับอากาศทำงานมากขึ้น
ที่มา : สำนักส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (สสอ.)
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
"อุ่นใจ" บิวเดอร์ บริษัทรับสร้างบ้าน บนที่ดินของท่าน ช่วยสร้างสรรค์ บ้าน อันเป็นที่รัก ด้วยประสบการณ์การ สร้างบ้าน และทีมงานที่เปี่ยมล้น ด้วยบุคลากรที่มากความสามารถ ระบบการควบคุมงานที่มีระบบแบบแผน บริษัท รับสร้างบ้าน รับสร้างอาคาร โดยทีมงานสถาปนิก และวิศวกรที่มีประสบการณ์ สร้างบ้าน สร้างอาคาร โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นการดำเนินการแบบครบวงจร
"อุ่นใจ" บิวเดอร์ พร้อมด้วย แบบบ้าน สวย แบบแปลนบ้าน แบบบ้านร่วมสมัย (Contemporary) ท่านสามารถเลือก แบบบ้าน ของเราทั้ง บ้านชั้นเดียว บ้านสองชั้น และ บ้านสามชั้น หรือใช้ แบบบ้าน จากที่อื่นก็สามารถ ปลูกบ้าน ได้เช่นกัน
ท่านสามารถเลือก แบบบ้าน ซึ่งเป็น แบบบ้านสวย ตามความต้องการของท่าน ซึ่งมีทั้ง แบบบ้านชั้นเดียว แบบบ้านสองชั้น แบบบ้านสามชั้น หรือท่านจะให้เรา ออกแบบบ้าน ตามความต้องการของท่านก็ได้ ยินดีสร้างได้ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี พัทยา ปทุมธานี ขอนแก่น นครราชสีมา โคราช ระยอง จันทบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก สงขลา หาดใหญ่